โควิดทำพิษ! คนไทยเสี่ยงตกงานกว่า 8.4 ล้านคน – เด็กจบใหม่ 5.2 แสนคนจ่อเตะฝุ่น
คนไทยเสี่ยงตกงาน ถูกเลิกจ้าง ในปี 2563 8.4 ล้านคน จากข้อมูลของ สภาพัฒน์ ในเรื่อง ภาวะสังคมไทยประจำไตรมาส 1 ของปี 2563 ได้มีการประเมินความเสี่ยงแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 8 ล้านคน จากผลกระทบของ COVID-19 ยังไม่นับรวมถึงภาคเกษตรกรรม และนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่ได้งาน รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันในวิดีโอนี้ครับ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 63 พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีแรงงานเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างถึง 8.4 ล้านคน ใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ
1)แรงงานภาคท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน
2)แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จากสงครามการค้า ต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของไวรัส คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน จากจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน
3.)การจ้างงานในภาคบริการที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ตลาดสด สนามกีฬา คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4.4 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ 10.3 ล้านคน
นอกจากนี้ภาวะภัยแล้ง ตั้งแต่กลางปี 62 ถึง ไตรมาส 1 ปี 63 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีแรงงานที่รอฤดูกาลผลิตถึง 370,000 คน สูงสุดในรอบ 7 ปี
โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มเห็นชัดในไตรมาส 2 และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้คาดว่าในปี 63 จะมีผู้ว่างงานราว 2 ล้านคน หรือ 4 เปอร์เซนต์ของแรงงานทั้งระบบ ซึ่งสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40
ทั้งนี้ยังต้องจับตาแรงงานจบใหม่ จำนวน 5.2 แสนคน ซึ่งจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม อาจต้องเตะฝุ่น ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานออกมารองรับ ซึ่งยังมีโอกาสจะได้งานจากแผนการฟื้นฟูหลังโควิดจากการใช้พรก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ประมาณ 2 ถึง 3 แสนตำแหน่ง